พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ หลายมาตราได้กำหนดให้ประชาชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในหลายรูปแบบ ทั้งในส่วนของการเป็นผู้มีสิทธิ์ในการเข้ารับการบริการ การบริหารจัดการ การตรวจสอบและรับรองคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบสิทธิ ได้ร่วมกระบวนการเรียนรู้และเพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพมากขึ้นในอนาคต โดยทั้งนี้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสี่ด้าน คือ การมีส่วนร่วมในด้านนโยบาย /บริหาร การมีส่วนร่วมในด้านการเงินและงบประมาณ การมีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพในชุมชนและท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานบริการ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๓ (๓) มาตรา ๑๘ (๘) มาตรา ๔๗และมาตรา ๔๘ (๔) การมีส่วนร่วมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับพื้นที่นั้น จะทำให้ระบบสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนแต่ละท้องถิ่นได้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการกระจายอำนาจของประเทศ โดยหลักการสำคัญของการมีหลักประกันสุขภาพนั้นเป็นเรื่องของการเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่สร้างความอบอุ่นใจแก่ประชาชนและเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและต่อเนื่อง
การมีสุขภาพที่ดีเป็นสิทธิประการหนึ่งที่มนุษย์พึงมี การให้หลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนเป็นความจำเป็นทางสังคมที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของประเทศในการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่เป็นสมาชิกในสังคม การเข้าใช้บริการสาธารณสุขไม่ควรเป็นเรื่องของการร้องขอและไม่ใช่การซื้อขายแบบธุรกิจ แต่เป็นการที่ประชาชนมารับบริการอันพึงมีพึงได้จากผู้ให้บริการและเป็นเรื่องของการเฉลี่ยสุขเฉลี่ยทุกข์กันของสมาชิกในสังคม จากหลักการสำคัญของการมีหลักประกันสุขภาพและความจำเป็นของการให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในหลักประกันสุขภาพ ทั้งในส่วนของการเป็นผู้มีสิทธิในการเข้ารับการบริการ การบริหารจัดการ การตรวจสอบและรับรองคุณภาพ เทศบาลตำบลคึกคัก จึงได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เทศบาลตำบลคึกคักขึ้น เพื่อให้ประชาชนในตำบลได้รับทราบสิทธิและกระบวนการเรียนรู้ในการเข้ามามีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี
|